การประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 29 จัดขึ้นในรูปแบบของการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายนิ่ง จี๋เจ๋อ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เป็นประธาน ร่วมการประชุม โดยมีผู้แทนกรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
ในการประชุมครั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กล่าวแสดงบทบาทและผลงานของประเทศไทยในการส่งเสริมความเชื่อมโยงภายในประเทศไทย อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และอาเซียน ตลอดจนได้มีการเสนอประเด็นที่ไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถขยายความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ที่สอดคล้องกับนโยบายและวาระแห่งชาติของไทย ภายใต้นโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมทั้งวิสัยทัศน์และแผนงานที่เกี่ยวข้องของนายศักดิ์สยามฯ ภายใต้กรอบ ความร่วมมือรถไฟไทย - จีน โดยมีเป้าหมายหลักในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เสริมสร้าง ความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน และนําไปสู่ “การสร้างใหม่ ให้ดีกว่าเดิม” โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามนโยบายท่านนายกรัฐมนตรีซึ่งมีข้อสรุปสําคัญจากการประชุมดังนี้
- ฝ่ายไทยแจ้งความก้าวหน้างานโยธาระยะแรกสําหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ฝ่ายจีน รับทราบความก้าวหน้างานโยธาระยะแรกในช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ซึ่งงานโยธาส่วนใหญ่ได้เริ่มดําเนินการแล้ว ฝ่ายไทยได้จัดตั้งสํานักงานบริหารโครงการเพื่อเร่งรัดการดําเนินการ ทั้งสองฝ่ายจะใช้ความพยายามอย่างสูงสุด เพื่อให้สามารถดําเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงาน
- ฝ่ายจีนรับทราบความก้าวหน้าของโครงการช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ซึ่งอยู่ระหว่าง การดําเนินการ ฝ่ายไทยได้ข้อสรุปสําหรับงานออกแบบรายละเอียดแล้ว โดยผลการศึกษาใกล้ที่จะแล้วเสร็จ ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายจีนจัดหาที่ปรึกษาตรวจสอบแบบ ฝ่ายจีนเห็นว่างานบริการที่ปรึกษาควรดําเนินการในรูปแบบการลงนามในสัญญาบริการที่ปรึกษา ซึ่งจะต้องดําเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งสองฝ่ายจะหารือในประเด็นดังกล่าวต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานงานโยธาและระบบไฟฟ้าและเครื่องกล
- ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับการเชื่อมทางรถไฟระหว่างหนองคาย - เวียงจันทน์ ฝ่ายไทยเสนอ ให้มีการประชุมไตรภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐ ประชาชนจีน เพื่อหารือเกี่ยวกับเส้นทางการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างหนองคาย - เวียงจันทน์ ทั้งสองฝ่ายจะหารือกับฝ่ายลาวเพื่อผลักดันให้มีการประชุมระดับคณะทํางานสามฝ่ายและจัดการประชุมทุกเดือน เพื่อให้มีความคืบหน้าในการเชื่อมโยงต่อไป
- ทั้งสองฝ่ายได้หารือการดําเนินการช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง โครงการความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างไทย - จีน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งได้ใช้ทางวิ่งและโครงสร้างร่วม โดยจะพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้กระทบต่อการปฏิบัติตามสัญญา 2.3 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะปรับงานออกแบบรายละเอียดของช่วงดังกล่าวให้ยืดหยุ่นบนมาตรฐานจีนและสนับสนุนฝ่ายไทยในการแก้ปัญหา ประเด็นทางด้านเทคนิค คณะทํางานด้านเทคนิคจะหารือประเด็นดังกล่าวต่อไป
- ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในร่างบันทึกแนบท้ายสัญญา ครั้งที่ 1 ของสัญญาที่ปรึกษาควบคุมงาน การก่อสร้างงานโยธาที่ได้หารือกันไว้ทั้งสองฝ่ายจะลงนามในร่างบันทึกแนบท้ายสัญญาฯ หลังจากการประชุม คณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ 29 โดยเร็วต่อไป
ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบกําหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 30 หลังการประชุม ไตรภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป